การดูแลแม่และลูกสุกรเล้าคลอด

โดย สพ.ญ.อุไรวรรณ พิพัฒน์ธนวงศ์ นักวิชาการอาวุโส (สุกร)

การดูแลแม่และลูกสุกรเล้าคลอด

โดย สพ.ญ.อุไรวรรณ พิพัฒน์ธนวงศ์ นักวิชาการอาวุโส (สุกร)

มนุษย์และสุกรเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม การดูแลแม่สุกรตลอดระยะการอุ้มท้องจนถึงคลอด การดูแลแม่สุกรหลังคลอดรวมทั้งการ ลูกสุกรดูดนมก็ไม่มีความแตกต่างไปจากการดูแลมารดาที่ตั้งครรภ์ และมารดาหลังคลอดรวมทั้งทารก หากผู้อ่านที่มีลูกแล้วจะมีความเข้าใจเป็นอย่างดีเกี่ยวกับ ภรรยาหรือตนเองที่ตั้งครรภ์ก็ต้องเอาใจใส่ เอาอกเอาใจ ดูแลเกือบทุกๆ เรื่อง เช่น การกินอาหารก็ห้ามตามใจปากต้องคุมน้ำหนักไม่ให้เพิ่มมากเกินไป เพราะอาจส่งผลเสียทั้งต่อตัวแม่และลูกได้ อาการขี้ร้อนที่เกิดขึ้นเกือบทุกคน เพราะน้ำหนักตัวแม่ที่เพิ่มมากขึ้นร่วมกับความร้อนที่สร้างเพิ่มขึ้นจากลูกในครรภ์ แต่ช่องทางการระบายความร้อนลดลง เนื่องจากปอดไม่สามารถขยายตัวได้เต็มที่เพราะช่องอกถูกดันจากการขยายตัวของมดลูกในช่องท้อง (ลองนึกถึงตอนที่ทานอาหารอิ่มจัดๆ ท่านก็หายใจไม่ค่อยออกอึดอัดมากเช่นกัน)

เมื่อลองนำมาเปรียบเทียบกับการดูแลสุกรก็ไม่แตกต่างเช่นกัน แม่สุกรอุ้มท้องก็ต้องคุมอาหารรักษาคะแนนร่างกายไม่ให้อ้วน แม่สุกรอุ้มท้องโดยเฉพาะช่วงท้ายก็ต้องดูแลให้เย็นสบาย ห้ามปล่อยให้แม่สุกรหอบร้อน เมื่อเราทะนุถนอมดูแลทารกในครรภ์/ตัวอ่อนสุกรในท้องมาตั้งแต่รู้ว่าตั้งครรภ์/ตรวจพบว่าท้องจนใกล้ถึงกำหนดคลอดเพื่อให้ได้ทารก/ลูกสุกรที่มีสุขภาพแข็งแรง กระบวนการคลอด/ช่วยคลอดตลอดจนการดูแลสุขภาพมารดา/แม่สุกร และ ทารก/ลูกสุกรหลังคลอดก็สำคัญไม่แพ้กัน

มารดาเมื่อครบกำหนดคลอดก็จะเดินทางไปโรงพยาบาล ซึ่งมีห้องคลอดเป็นสถานที่ที่สะอาด ปลอดเชื้อเตรียมไว้สำหรับขบวนการคลอดและมีบุคคลากรที่มีประสบการณ์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งตัวมารดาและบุตร เมื่อมารดาเริ่มมีอาการเจ็บเตือน พยาบาลและแพทย์ก็จะคอยมาตรวจสอบอาการและปากมดลูกเป็นระยะ ถ้ามารดาสามารพคลอดลูกได้เองพยาบาลและแพทย์ก็จะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์และเป็นผู้ช่วยคอยรับตัวบุตรที่มารดาเบ่งคลอดออกมา แต่ถ้าหากกระบวนการคลอดนานมากเกินหรือเกิดความผิดปกติแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่ามารดาอาจไม่สามารถเบ่งคลอดบุตรด้วยตนเองและอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวมารดาและบุตร แพทย์จะรีบดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

แม่สุกรอุ้มท้องก็เช่นกัน แม่สุกรอุ้มท้องประมาณ 114 วัน ก่อนครบกำหนดคลอดประมาณ 1 สัปดาห์ แม่สุกรจะถูกย้ายจากซองอุ้มท้องไปอยู่ในซองคลอดที่สะอาด มีอากาศถ่ายเทดีและมีน้ำหยดช่วยให้เย็นสบาย มีพนักงานที่มีประสบการณ์ในการดูแลและช่วยคลอดอย่างใกล้ชิด พร้อมให้ความช่วยเหลือในการช่วยคลอดได้ทันท่วงที เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดกับแม่และลูกสุกร

กระบวนการคลอด

แม่สุกรใกล้คลอดจะแสดงอาการออกมาหลายอย่าง ได้แก่กระวนกระวาย ไม่อยู่นิ่ง แสดงพฤติกรรมการสร้างรัง กล้ามเนื้อสวาป พื้นท้องและหางหดตัว อัตราการหายใจเพิ่มขึ้นจากปกติที่ 25-30 ครั้งต่อนาทีเป็นมากกว่า 80 ครั้งต่อนาที ก่อนการคลอดจะเกิดขึ้นประมาณ 5-6 ชั่วโมง อัตราการหายใจจะลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ ช่วงใกล้คลอดเต้านมแม่สุกรจะขยายใหญ่ อาจมีน้ำนมไหลหยดออกจากหัวนม ความข้นและคุณภาพของนมอาจแตกต่างกันไปในแม่สุกรแต่ละตัว ปกติเราจะพบน้ำนมไหลออกมาก่อนการคลอด 6-8 ชั่วโมง แม่สุกรหลายตัวอาจพบของเหลวสีปนเลือดและขี้เทาออกมาจากอวัยวะเพศซึ่งเป็นอาการที่แสดงว่าการคลอดจะเกิดขึ้นภายใน 30 นาที ซึ่งเป็นผลมาจากกล้ามเนื้อมดลูกบีบตัวอย่างแรงทำให้เยื่อหุ้มรกฉีกขาดออก

ที่มา : สารเบ็ทเทอร์ฟาร์ม่า Animal Health